ปีใหม่ผ่านมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าไม่นับเรื่องที่เรามีอายุมากขึ้นอีกหนึ่งปี ก็น่าจะเป็นช่วงที่มีความสุขและน่ายินดีอีกช่วงหนึ่งทีเดียว ร้านรวง สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งหลาย ประดับประดาประทีป ดวงไฟกันสุดแสนอลังการ จะมองไปทางไหนก็ต้องพบเจอภาพน่ารักๆของเจ้าหมาน้อยอยู่ดาษดื่น ก็แน่ล่ะ...เพราะปี 2549นี้ เป็นปีจอหรือปีหมานั่นเอง
ใครๆก็พูดว่าหมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ของความภักดีและความซื่อสัตย์ บางครั้งเราเรียกมันเสียไพเราะว่า สุนัข ซึ่งหมายถึง ผู้มีเล็บงาม ในประเทศไทยมีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับหมาที่เก่าแก่ที่สุด เป็นภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุประมาณ 4,000-4,500 ปี ที่ถ้ำเขาปลาร้า จ.อุทัยธานี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า เป็นหมาไทย นับเป็นประจักษ์พยานว่าหมากับสังคมมนุษย์ผูกพันกันมาช้านานแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงพบตำนานเกี่ยวกับหมามากมาย เช่น เชื่อว่าในอดีตหมามีเก้าหาง อาศัยอยู่บนสวรรค์ และหมาเก้าหางนี่เองที่เป็นผู้นำข้าวลงมาจากสวรรค์เพื่อให้มนุษย์มีข้าวกิน จนถูกลงโทษให้เหลือเพียงหางเดียว ซึ่งนิทานเรื่องนี้เป็นนิทานที่แพร่หลายที่สุดในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่หมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเอเชียมากที่สุดคือหมาที่มาในรูปแบบของสัญลักษณ์แห่งปีนักษัตร
นักษัตรเป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า นกฺขตฺต ซึ่งไทยเราอ่านออกเสียงว่า นักขัตต์ ( หรือที่พูดกันบ่อยๆว่านักขัตตฤกษ์ ) แปลตามตัวว่า ดาวฤกษ์ ซึ่งมีทั้งหมด 12 กลุ่มบนท้องฟ้า เรียกกันอีกอย่างตามภาษาเขมรว่า ราศี ดาวทั้ง12 กลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น 27หมู่ ซึ่งในแต่ละเดือน แต่ละช่วงเวลา ดาวเหล่านี้จะค่อยๆผลัดกันเคลื่อนมาอยู่กลางท้องฟ้าตามลำดับ
โหราพยากรณ์สมัยโบราณ (ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องเป็นนักดาราศาสตร์ไปด้วยในตัว) เชื่อว่ากลุ่มดาวทั้งหมดนี้จะมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล รวมถึงการกำหนดปฏิทินและฤดูกาลด้วย กล่าวง่ายๆคือ ดาวมี 12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มพลัดกันมาอยู่กลางท้องฟ้านานอยู่ในช่วงประมาณ 30 วัน ซึ่งนับเป็นหนึ่งเดือน (มาจากคำว่าเดือน ซึ่งแปลว่าพระจันทร์ หมายความว่ารอบเวลาจากพระจันทร์เต็มดวงครั้งหนึ่งจนพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง) เมื่อครบรอบหมดทั้ง 12 กลุ่มดาว เราเรียกว่า 1 ปี
บรรพชนผู้แยบยลจึงคิดหาวิธีเติมสัญลักษณ์แทนแต่ละเดือนในรอบปี แทนชื่อหมู่ดาวทั้ง 12 กลุ่ม ซึ่งเรียกยาก และจำยาก พวกเขาใช้สัตว์ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ที่เชื่อว่ามีพลังอำนาจเข้ามาเป็นชื่อเดือน เราจึงมี นักษัตรทั้ง 12 ขึ้นมาใช้กัน
มีคนสงสัยว่าทำไม หนูจึงเป็นสัญลักษณ์ของเดือนแรกในรอบนักษัตร เรื่องนี้ปรากฏในนิทานพื้นบ้านของคนไตแถบมณฑลเสฉวนในเขตประเทศจีน ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น ฝูงชนที่ทราบข่าวต่างพากันชื่นชมยินดี พากันไปชมบารมีพระพุทธองค์ ครานั้นบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ก็พากันไป โดยการวิ่งแข่งกัน ใครไปถึงก่อนจะได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่ วัววิ่งมาเป็นอันดับแรก แต่ในขณะที่มันกำลังจะถึงเส้นชัยหนูซึ่งเกาะอยู่บนหัวของมันก็กระโดดลงมาและเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก หนูจึงได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำในนักษัตรตามมาด้วยวัว เสือ กระต่าย งูใหญ่(คือมังกรหรือนาค) งูเล็ก ม้า แพะ ลิง ไก่ หมา และ หมู ตามลำดับ
ทราบหรือไม่ว่าชื่อนักษัตรที่คนไทยคุ้นเคยกันมานาน คือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นภาษาเขมร ซึ่งพวกเขาก็ยังพูดกันอยู่ในปัจจุบัน หากอยากฟังแบบที่เป็นภาษาไทยแท้ๆนั้น ต้องไปหาฟังจากทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเขา ท่องกันว่า ไจ้ เป้า ยี เหม้า สี ไส้ สะง้า เม้ด สัน เล้า เส้ด ไส้
น่าแปลกที่สัญลักษณ์ประจำปีนักษัตรในเอเชียทั้งหมดล้วนตรงกัน จะต่างกันก็เพียงปีหมู ที่บางวัฒนธรรมใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์แทน สวดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่า นักษัตรเกิดขึ้นในดินแคนเมโสโปเตเมียแห่งแรกเมื่อ ปีก่อน แล้วค่อยๆเผยแพร่ออกไปจนทั่วทั้งทวีป
ไม่ว่าจะเป็นปีใด ใช้สัญลักษณ์อะไร ออกเสียงเรียกว่าอย่างไร หากเราใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท ปีนั้นก็จะเป็นปีทอง ปีที่ดีที่สุดในชีวิตคุณ |